วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี




สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (จีน鄭昭พินอินZhèng Zhāoแต้จิ๋ว: Dênchao) มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง ภายหลังเป็นกรมพระเทพามาตย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา[1] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี พระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[7]
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

Monument of King Taksin in Wat Kungtapao.jpg

พระปรมาภิไธย

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
  • เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงใช้พระนามว่า "พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"[8]
  • พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียกว่า พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า
  • จดหมายเหตุกรุงธนบุรีในสมุดไทยดำ ชื่อพระราชสาสน์และศุภักษรโต้ตอบกรุงธนบุรีและกรุงศรีสัตนาคนหุตจุลศักราช 1140 ใช้ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
  • ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
  • พระนามที่เรียกกันตามหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
  • ประชาชนทั่วไปขนานนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


พระราชสมภพและขณะทรงพระเยาว์

ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (鄭鏞)[6] (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง (海豐) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) [6] เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา[9] ครั้นเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ได้มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน (信) เกิดแต่ นาง นกเอี้ยงซึ่งเป็นชาวไทย ซึ่งต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์[10] สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[11]
จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [暹羅國; ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [鄭昭; สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [12]
สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงได้เคยบวชเรียนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลีครั้นเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว[13] ส่วน อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก[14] เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ไทย จีน ญวน และลาว

อาชีพค้าขาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[15] ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ[16] การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง[17] การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน

รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งได้กล่าวไว้ในทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตาก โดยติดต่อผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยตาย จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก[19] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนที่จะทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง[20]
ครั้นเมื่อกองทัพพม่ายกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพผ่านเมืองตาก พระยาตากเห็นสู้ไม่ไหวจึงได้นำไพร่พลลงมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา[21] ทั้งยังปรากฏในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบในการนำทหาร 500 นาย มาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จ[22] ในระหว่างการปิดล้อมนั้นก็ได้ปรากฏฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ

สร้างกลุ่มชุมนุมและกอบกู้เอกราช


ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตก ล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา ทรัพย์สิน วัวควาย ถูกยึดไว้หมด[23] จนกระทั่งในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 (ก่อนกรุงแตกประมาณ 3 เดือน) นั้น กองทัพพม่ายิงถล่มพระนครศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือ วัด วัง ได้รับความเสียหาย เฉพาะบ้านเรือนราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง[24] ทว่ากลางวันของวันที่ 3 มกราคมนั้นกองกำลังของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ได้รวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย[25] หนีออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว จึงได้เห็นแสงเพลิงลุกไหม้ในกรุงศรีอยุธยาที่บ้านสัมบัณฑิตในเวลาเที่ยงคืนของวันนั้น โดยมีนายทหารคนสำคัญในกองทัพคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชสเน่หา ขุนอภัยภักดี (ทั้ง 5 นายนี้มักปรากฏอยู่เคียงข้างพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่ง) พระองค์ตั้งค่ายอยู่ในค่ายวัดพิชัย[26]ได้เริ่มออกเดินทางมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมา แล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายแพ้กลับไป ก่อนจะเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน
เช้าวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2309 กองกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพสังหาร พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้รบกันจนพม่าแตกพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก 4 ม้าออกรับศึก จนสามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง วันนี้เหล่าทหารม้าจึงถือเอาเป็น วันทหารม้า ของไทย[27]
วันที่ 3 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ก็มีขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้าง มาขอสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่น ไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงต้องปะทะไพร่พลชาวบ้านกง ซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่ก็ถูกกองกำลังพระยาตากตีพ่ายไป ยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทอง และเสียงอาหารอีกจำนวนมาก วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2509 หรือ 6 วันนับตั้งแต่หนีออกจากพระนคร เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ่ม แล้วหยุดพัก ณ จุดนี้เป็นเวลา 2 วัน ก่อนที่จะออกเดินทัพต่อมถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก 1 คืน
ต่อมาพระยาตากจึงนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ เมืองปราจีนบุรี แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนจะเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชา ที่ตามกองทัพมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้น ได้เกิดการปะทะกับกองทัพทั้งทัพบกทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำโจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา "พม่าไล่แทงฟันคงซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ"[28] พระเจ้าตากจึงมีรับสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ เรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตร จึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น แนวแรกของพม่าแตกพ่ายไป แต่ยังมีกองหนุนเข้ามาอีก 3 กอง ซึ่งก็ถูกยิงแตกพ่ายไปเช่นกัน "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง"[29] จากแนวทะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนจากการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง, ตะพานทอง, บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ"[28]
ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระเจ้าตาก แต่เพียงพระเจ้าตากแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" เท่านั้นนายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไป พัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่าแขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ[30] ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น
หลังจากพระองค์ยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล[31] ได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์พายุหมุนจนบิดต้นตาลเป็นเกลียวโดยไม่คลายตัว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ตาลขด[32] บรรดาทหารทั้งหลายต่างก็ยกพระยาวชิรปราการเป็น เจ้าตาก ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัย 23 วัน[33] พระองค์ได้มีพระราชปณิธานว่า "กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงห้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย"[34] การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม ก็อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่า พระยาตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว[35] เจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบูร[36] ซึ่งก่อนเข้าตีเมือง ได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด หมายจะให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบูร[37] จนตีได้เมืองจันทบูรเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310[38] หลังจากนั้น ก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบูรและเมืองตราดไม่ถูกยึดครองโดยทหารพม่า
พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นาย จึงได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบูร ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดธนบุรีคืนจากพม่าได้ นายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้น ถูกประหารชีวิต[39][40] ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้ และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครอง ใช้เวลาเพียงเจ็ดเดือนหลังเสียกรุง


ปราบดาภิเษก


ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และการเมืองเป็นสำคัญ[42] ทำให้เจ้าตากมา "ยับยั้ง" อยู่ ณ เมืองธนบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นราชธานีไม่ถาวร[43] ก่อนหน้านั้น เมืองธนบุรีถูกทิ้งร้าง มีต้นไม้ขึ้นและซากศพทิ้งอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ต้องมีการเกณฑ์แรงงานจัดการพื้นที่ขึ้นมาใหม่[44] เจ้าตากยังมีรับสั่งให้คนไปอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยตอนปลายอยุธยาจากเมืองลพบุรีมายังเมืองธนบุรี และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศตามโบราณราชประเพณี[45][46]
หลังจากที่อพยพผู้คนและทรัพย์สินลงมาทางใต้และตั้งราชธานีใหม่ขึ้นที่เมืองธนบุรี เรียกนามว่า กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร แต่เอกสารทางราชการสมัยกรุงธนบุรียังคงเรียกนามเมืองหลวงตามเดิมว่า "กรุงพระมหานครศรีอยุธยา" เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุโหรระบุว่าเป็นวันอังคาร แรมสี่ค่ำ จุลศักราช 1129 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4[47] ในขณะที่ยังมีพระชนมายุ 34 พรรษา ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีผู้ที่มีแนวคิดต้องการรื้อฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่มาเข้าร่วมด้วยกับชุมนุมของพระองค์เป็นอันมาก ทำให้สถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์เด่นชัดยิ่งขึ้น[47] อีกทั้งพระองค์ยังทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจตามแบบอย่างพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงถึงสิทธิธรรม[47] การเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานียังถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงครามกับพม่าด้วย[48]
หลังจากทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2310 เป็นพระราชวังหลวงซึ่งใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ พร้อมกับปรับปรุง "ป้อมวิไชยเยนทร์" และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" ตำแหน่งของพระราชวังนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญอีกด้วย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือ 


พระราชกรณียกิจ

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้นั้นทำให้กิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่ว พระเกียรติยศของพระองค์จึงแพร่ไปว่าเป็นผู้สามารถกู้แผ่นดินไทยให้พ้นจากอำนาจพม่าข้าศึกได้ ทำให้ไพร่บ้านพลเมืองที่ยังหลบลี้อยู่ตามที่ต่างๆ พากันมาอ่อนน้อมเข้าร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นกำลังในการศึกสงครามและการบูรณะบ้านเมืองต่อไป พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ดังนี้


ด้านการรวมชาติ

จากผลของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทำให้อาณาจักรอยุธยาไม่อาจกลับมาตั้งใหม่เป็นอาณาจักรของคนไทยได้อีก ทั้งยังเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิตตามมา ซึ่งตามทัศนะของนิธิ เอียวศรีวงศ์นั้น ได้อธิบายว่า มีการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่สำคัญคือเพื่อเอาชีวิตรอด นอกจากนี้กลุ่มการเมืองหรือ "ชุมนุม" ขนาดใหญ่ ๆ นั้นยังแตกออกเป็น 4-6 ก๊กใหญ่ แต่ไม่มีก๊กใดเลยที่คิดจะกอบกู้เอกราชหรือฟื้นฟูชาติกลับคืนมาดังเดิม

ครั้นพระเจ้ามังระทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระราชโองการให้เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาปราบปราม[50] กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี มีกำลังตามพระราชพงศาวดาร 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น[51]
ราวปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเริ่มจากยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกเป็นก๊กแรก แต่กระสุนปืนต้องถูกพระองค์ จึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร ชุมนุมพิษณุโลกนี้ภายหลังอ่อนแอลงจนกระทั่งถูกชุมนุมเจ้าพระฝางผนวกไป หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นต่อไป โดยเริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธทรงถูกปราบปรามและถูกสำเร็จโทษในปี พ.ศ. 2311[52]ตามด้วยชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งพระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นเจ้า[53] เจ้านครศรีธรรมราชสู้ไม่ได้หนีต่อลงไปยังหัวเมืองทางใต้ พระยาปัตตานีกลัวก็จับตัวมาส่งให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[54] ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยยึดได้เมืองพิษณุโลก และก๊กเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี รบกันได้เพียง 3 วัน เจ้าพระฝางก็แตกหนี[54] เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว รัฐบาลจีนก็เริ่มให้การยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ


สงครามป้องกันประเทศ

ในปี พ.ศ. 2312 เจ้านายเขมรได้เกิดวิวาทกัน คือ นักองตนไปขอกองทัพญวณมาตีเขมร และนักองนนท์สู้มิได้ก็พาครอบครัวหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์กับพระยาอนุชิตราชา (ตอนนี้เป็นตอนต้นรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยังมียศศักดิ์เพียงพระยาอภัยรณฤทธิ์) ยกทัพไปตีเขมรและทำการโจมตีได้เมืองเสียมราฐแล้วพักรอฤดูฝนอยู่ พอดีได้ข่าวว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช แล้วสิ้นพระชนม์ลง การตีเขมรครั้งนั้นจึงยังไม่เสร็จ
เมื่อชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตก อภัยคามณี โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ที่พม่าตั้งขึ้น เห็นเป็นโอกาสจะแผ่อาณาเขตลงมา จึงยกทัพลงมาล้อมสวรรคโลกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2313 แม่ทัพธนบุรีรักษาเมืองไว้มั่นคง ครั้นกองทัพธนบุรีที่ยกมาช่วยเหลือ พอถึงก็เข้าตีกระหนาบพ่ายกลับไป ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นสบโอกาส ก็ยกทัพขึ้นไปจะตีเอาเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่ล้อมได้เพียงเก้าวันก็ต้องยกถอยกลับลงมา
ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้ฉวยโอกาสยกทัพมาตีเมืองตราดและจันทรบูร แต่ถูกตีแตกกลับไป พอสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ขัดเคือง หลังจากพักรี้พลพอสมควรแล้วก็ทรงเตรียมทัพจะไปตีกัมพูชา สามารถเข้าไปจนถึงเมืองบันทายเพชร ราชธานีกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าสู้ไม่ได้ก็หนีไปพึ่งญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้พระรามราชาเป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาต่อไป แล้วเลิกทัพกลับเมื่อปี พ.ศ. 2314 แต่ต่อมาญวนเกิดกบฏไตเซิน สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดกำลังสนับสนุน ก็กลับมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ก็ทรงให้เป็นมหาอุปโยราช มีฐานะรองจากพระรามราชา[54]
ในปี พ.ศ. 2314 นักองตนซึ่งครองเขมรอยู่ได้ข่าวพม่ายกมาตีไทย จึงถือโอกาสยกทัพมาตีเมืองจันทบุรีและตราด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีเขมร ทัพไทยตีได้เมืองโพธิสัตว์ เมืองพระตะบอง เมืองบริบูรณ์ เมืองกำพงโสม และเมืองบันทายมาศ นักองตนพ่ายแพ้หนีไปอยู่กับญวณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองนนท์ครองเขมรสืบไป
ในปีเดียวกันนี้ ได้เกิดวิวาทกันในหมู่เจ้าเมืองแคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็ขอกำลังพม่ามาช่วย พอปราบปรามสำเร็จแล้ว แม่ทัพพม่าก็ยกทัพมาตั้งที่เชียงใหม่ เมื่กองทัพยกผ่านเมืองน่านก็แบ่งกำลังให้นายทัพหน้าตีเมืองบางส่วนของธนุบรี ลึกเข้าไปถึงพิชัย ปลายปี พ.ศ. 2315 เจ้าเมืองพิชัยป้องกันเมืองไว้มั่นคงแล้วก็ขอกำลังพิษณุโลกไปช่วย พอมาถึงก็ออกตีกระหนาบ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายแตกกลับไป ในปี พ.ศ. 2316 ได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน และพม่ายกเข้ามาตีเมืองพิชัยอีกครั้งหนึ่ง แม่ทัพธนบุรีตั้งซุ่มสกัดข้าศึกตรงบริเวณชัยภูมิ พอมาถึงก็ตีทัพพม่าแตกกลับไป การรบครั้งนี้เองที่เกิดวีรกรรม พระยาพิชัยดาบหัก[54]
พม่ากับมอญเกิดรบกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง ได้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเข้ามาสวามิภักดิ์ เมื่อยกไปถึงเชียงใหม่แล้วก็ตั้งค่ายล้อมไว้ เมื่อทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเดิมตั้งคอยรับชาวมอญที่เมืองตากมาถึงเชียงใหม่แล้ว ทัพธนบุรีก็ระดมตีค่ายพม่า จนโปมะยุง่วนต้องทิ้งเมืองหนี เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2317 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่านและแพร่ก็ปลอดจากพม่าตั้งนั้บแต่นั้น[54]
ในปี พ.ศ. 2317 หลังจากได้ทำสัญญาสันติภาพกับจีนแล้ว พระเจ้ามังระก็ทรงส่งทหารมาอีก 5,000 นาย แต่ถูกล้อมที่บางแก้ว ราชบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีดำริให้ตั้งล้อมไว้เฉย ๆ ไม่ให้เข้าตี และรอจนพม่าเป็นฝ่ายอดอาหารยอมจำนนเอง หลังจากล้อมอยู่นาน 47 วัน พม่าก็ยอมจำนน โดยพระองค์ทรงหวังว่าจะเป็นการปลุกขวัญคนไทยให้หายกลัวพม่า[54]
อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2318 เป็นสงครามที่ใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญศึก มีอัธยาศัยสุภาพ ส่วนทางด้านฝ่ายไทยนั้นมีเจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง)และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 คนเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อีก 5,000 คนล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 คนเท่านี้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปช่วยและในที่สุดอะแซหวุ่นกี้ต้องยกทัพกลับ เนื่องจากพระเจ้ามังระสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกกองทัพทหารจับ[56]
พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ทัพพม่ามอญ 6,000 คนยกมาตีเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการได้พิจารณาแลเห็นว่านครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายขนาดที่จะว่าป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่[57]
หลังจากทัพไทยกลับจากเขมรในปี พ.ศ. 2323 แล้ว นักองตนก็ยกทัพมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองบันทายมาศ ส่วนนักองนนท์เกรงกลัวญวณจึงคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกำปอด ต่อมาองไกเซนเป็นกบฏยึดญวณไว้ได้ นักองตนสิ้นที่พึ่ง จึงขอประนีประนอมยอมให้นักองนนท์ครองกรุงกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระรามราชา (นักองนนท์) เป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พระนารายณ์ราชาธิบดี (นักองตน) เป็นมหาอุปโยราช และนักองธรรมเป็นมหาอุปราช
ต่อมานักองธรรมถูกลอบฆ่าตายและนักองตนก็เป็นโรคตาย เป็นที่สงสัยว่าถูกวางยาพิษ ฟ้าทะละหะเข้าใจว่าพระรามราชาแกล้งฆ่าคนทั้งสอง จึงพร้อมด้วยข้าราชการรวมกันจับพระรามราชาถ่วงน้ำเสีย แล้วยกนักองเองราชบุตรขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา มีฟ้าทะละหะเป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาฟ้าทะละหะได้เอาใจออกห่างไทยไปฝักใฝ่ญวณ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเขมร ตีได้หลายหัวเมืองแล้ว พอจะตีเข้าเมืองหลวงก็พอดีเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจำเป็นต้องยกทัพกลับ


การขยายพระราชอาณาเขต

นอกจากขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินยังได้ขยายอำนาจเข้าไปในลาว ได้หัวเมืองลาวเข้ามาอยู่ในอำนาจอาจกล่าวได้ว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นสมัยแห่งการกู้เอกราชของชาติ รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ขับไล่ข้าศึกออกไปจากอาณาเขตไทยและขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระองค์ ไทยจึงยิ่งใหญ่เท่าเทียมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามีความรุ่งเรือง[58]
พ.ศ. 2319 ในขณะที่ไทยติดศึกพม่าที่เมืองพิษณุโลกนั้น มีเหตุเกิดขึ้นทางนครราชสีมา คือ เจ้าเมืองนางรอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นต่อนครราชสีมา วิวาทกับพระยานครราชสีมา แล้วเอาเมืองไปขึ้นต่อเจ้าโอ เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งตั้งตนเป็นอิสระอยู่ พระยานครราชสีมามีใบ้บอกเข้ามายังกรุงธนบุรี
ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปปราบ เมื่อปราบได้ให้ประหารเจ้าเมืองนางรองเสีย เจ้าพระยาจักรีปราบได้สำเร็จ พอปราบเสร็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่าเจ้าโอกับเจ้าอินอุปราช เมืองนครจำปาศักดิ์เตรียมพล 10,000 นายจะมาตีนครราชสีมา สมเด้จพระเจ้าตากสินจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมทัพไปสมทบอีก 1 ทัพและให้ปราบจำปาศักดิ์เสีย ทัพไทยตีจำปาศักดิ์แตกและจับตัวเจ้าโอกับเจ้าอินได้ที่เมืองสีทันดร และยังตีได้เมืองอัตตะปือด้วยพร้อมกันนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ออกเกลี้ยกล่อมเมืองเขมรป่าดง ระหว่างจำปาศักดิ์กับนครราชสีมาเป็นพวกได้อีก 3 เมือง คือ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ทั้ง 3 เมืองยอมเข้าเป็นเขตเมืองไทย เสร็จศึกครั้งนี้เจ้าพระยาจักรีได้เลื่อนเป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม
พ.ศ. 2321 พระวอเสนาบดีเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ แต่สู้เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ได้ ก็พาสมัครพรรคพวกหนีมาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) และขอขึ้นต่อไทย ต่อมาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ยกทัพมาตีตำบลดอนมดแดงและจับฆ่าพระวอเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงขัดเคืองมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์กองทัพไทยได้แสดงความสามารถตีเมืองเวียงจันทน์ได้ และหัวเมืองลาวทั้งหลายได้พากันมาขึ้นต่อไทย และในครั้งนี้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงมายังกรุงธนบุรีด้วย
การศึกสงครามดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พระราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี มีดังนี้



ด้านการปกครอง

หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก กฎหมายบ้านเมืองกระจัดกระจายสูญหายไปมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสืบเสาะ ค้นหามารวบรวมไว้ได้ประมาณ 1 ใน 10 และโปรดฯ ให้ชำระกฎหมายเหล่านั้น ฉบับใดยังเหมาะแก่กาลสมัยก็โปรดฯ ให้คงไว้ ฉบับใดไม่เหมาะก็โปรดให้แก้ไขเพิ่มเติมก็มี ยกเลิกไปก็มี ตราขึ้นใหม่ก็มี และเป็นการแก้ไขเพื่อราษฎรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น โปรดฯ ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันให้อำนาจการตัดสินลงโทษขึ้นแก่ศาลแทนนายตราสิทธิ์ขาด และยังห้ามนายตรานายบ่อนออกเงินทดลองให้ผู้เล่น เกาะกุมผูกมัดจำจองเร่งรัดผู้เล่น กฎหมายพิกัดภาษีอากรก็เกือบไม่มี เพราะผลประโยชน์แผ่นดินได้จากการค้าสำเภามากพอแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจุกช่องล้อมวงก็ยังไม่ตราขึ้น เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เฝ้าแหนตามรายทาง โดยไม่มีพนักงานตำรวจแม่นปืนคอยยิงราษฎร ซึ่งแม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังชื่นชมในพระราชอัธยาศัยนี้ เช่น มองเซนเยอร์ เลอบอง ได้บรรยายไว้ในจดหมายถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศว่า[60]
บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นแต่เพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อน ๆ ไม่ และในธรรมเนียมของพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะมีรับสั่งด้วยแล้วจะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปกครองบ้านเมืองคล้ายคลึงกับพระราโชบายของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ แบบพ่อปกครองลูก เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ไม่ถือพระองค์ มักปรากฏพระวรกายให้พสกนิกรเห็น และมักถามสารทุกข์สุขดิบของพนกนิกรทั่วไป ทรงหาวิธีให้ไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินโดยปกติสุข ใครดีก็ยกย่องสรรเสริญ ผู้ใดทำไม่พอพระทัย ก็ดุด่าว่ากล่าวดังพ่อสอนลูก อาจารย์สอนศิษย์ ซึ่งสมกับโคลงยอพระเกียรติของนายสวนมหาดเล็กที่ว่า
พระเดียวบุญลาภเลี้ยงประชากร
เป็นบิตุรมาดรทั่วหล้า
เป็นเจ้าและครูสอนสั่งโลก
เป็นสุขทุขถ้วนหน้านิกรทั้งชายหญิง
เนื่องจากตลอดรัชสมัยของพระองค์ เป็นช่วงเวลาที่มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเวลา จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะชำระพระราชกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้กรมวังหรือกระทรวงวังเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่าคดีใดควรขึ้นศาลใด แล้วส่งคดีไปยังศาลกรมนั้น ๆ โดยได้แบ่งงานศาลออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
  • ฝ่ายรับฟ้อง มีหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องและพิจารณารูปคดีว่าควรจะฟ้องหรือไม่ ก่อนจะส่งขึ้นศาลเพื่อพิจารณา เรื่องปรับไหมและลงโทษผู้กระทำผิด
  • ฝ่ายตรวจสำนวนและพิพากษา ฝ่ายนี้เดิมเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแขนงต่าง ๆ จำนวน 12 คน โดยเรียกว่า "ลูกขุน ณ ศาลหลวง" ต่อมาได้มีคนไทยที่เชี่ยวชาญกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วย คณะลูกขุน ณ ศาลหลวงนี้จะไม่มีอำนาจในการปรับหรือลงโทษแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์จะทรงใช้ศาลทหารเป็นส่วนใหญ่ โดยในการตัดสินคดีทุกครั้ง แม้พระองค์จะตัดสินให้ลงโทษสูงสุดแล้ว แต่ก็จะมีรับสั่งให้ทยอยการลงโทษจากขั้นต่ำสุดก่อน ซึ่งหลายครั้งจะปรากฏว่านักโทษที่มีความผิดร้ายแรงก็มักจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหนัก โดยให้ไปกระทำการอย่างอื่นเป็นการไถ่โทษแทน
  • การออกพระราชกำหนดสักเลก พ.ศ. 2316 เพื่อสะดวกในการควบคุมกำลังคน การขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนที่เคยเป็นประเทศราชของไทยในลาวและเขมรเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งมั่นคง และการเตรียมการให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปปกครองเขมรในฐานะเมืองประเทศราช [61] แต่ได้เกิดจลาจลในกรุงธนบุรีเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ ส่วนหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นทางผ่านของทัพพม่าก็โปรดให้แม่ทัพนายกองที่มีความสามารถไปปกครอง เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ไปครองเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาพิชัยราชาไปครองเมืองสวรรคโลก


ด้านเศรษฐกิจ

ผลกระทบโดยตรงของสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง คือ การเกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[62] นอกจากนี้เศรษฐกิจยังเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปล้นสะดม และเมืองท่าที่สำคัญตกเป็นของพม่าอย่างเด็ดขาดถึงสองเมือง ได้แก่ มะริดและตะนาวศรี และยังเสียปืนใหญ่และปืนคาบศิลารวมหลายหมื่นอีกด้วย[63]
เพื่อที่จะหาทรัพย์มาใช้จ่าย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกประเพณีงดเก็บส่วยอากร 3 ปีเมื่อมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์ อันเป็นประเพณีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[64] ทรงแจกจ่ายข้าวของเงินทองอันได้มาสี่ครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งตีค่ายชาวบ้านกง ครั้งตีเมืองจันทบุรี ครั้งปล้นเรือสำเภาพ่อค้าจีนที่ตราด และครั้งตีเมืองนครศรีธรรมราช สามารถช่วยราษฎรได้หลายหมื่นคน[64] บรรดาข้าราชการทหารพลเรือนได้รับแจกข้าวสารหนึ่งถังกินยี่สิบวัน และโปรดให้ซื้อข้าวสารบรรทุกมาขายจากพุทไธมาศ ถังละ 3-5 บาท เมื่อราษฎรทั้งหลายทราบก็ได้อพยพตามหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก[48] ต่อมา ทรงให้ข้าราชการทั้งหลายทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล ราคาข้าวเริ่มถูกลงใน พ.ศ. 2311 ก่อนจะกลับมีราคาสูงผิดปกติอีกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2312 เนื่องจากมีหนูระบาด[65] เมื่อหนูหายไปแล้ว ราคาข้าวก็กลับลดลงอีก
พระองค์ทรงวางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวในกรุงธนบุรี โดยในปี พ.ศ. 2314 ทรงให้ปรับพื้นที่สวนป่านอกกำแพงพระนครให้เสมอกันไว้ทำนา ครั้นบ้านเมืองสงบก็ทรงให้แม่ทัพคุมกองทัพมาทำนา ซึ่งทำให้กรุงธนบุรีกลายสภาพเป็นแหล่งทำนาแห่งใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย[65]
พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงการค้าขายทางเรืออย่างเต็มที่ ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปหลายสาย ทางตะวันออกถึงจีน ทางตะวันตกถึงอนุทวีปอินเดีย ผลกำไรจากการค้าช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมีรายได้จากภาษีเข้าออกของเรือต่างชาติ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงส่งเสริมการนำสินค้าพื้นเมืองไปขาย ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้ ทั้งมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกให้คนไทยเชี่ยวชาญการค้าขาย ป้องกันมิให้การค้าตกอยู่ในมือชนต่างชาติ และรักษาประโยชน์ของสินค้าพื้นเมืองมิให้ถูกทอดทิ้ง พระองค์ทรงพยายามผูกไมตรีกับจีนเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงของชาติและประโยชน์ในด้านการค้า[66][67][68]
ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับจีน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระตุ้นให้ชาวจีนเข้ามาตกรกร้างในธนบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองแต้จิ๋ว[69] ซึ่งบางส่วนมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา

ด้านคมนาคม

ในยุคนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกเลิกความคิดแนวเก่าที่ว่าหากถนนหนทาง ทางคมนาคมดีมากแล้วจะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึกศัตรูและพวกก่อการจลาจล แต่กลับทรงเห็นเป็นประโยชน์ในทางค้าขายมากกว่า ดังนั้น ในฤดูหนาวหากว่างจากศึกสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง จะเห็นได้จากแนวถนนเก่าๆ ในเขตธนบุรีซึ่งมีอยู่หลายสาย ส่วนการขุดชำระคลองมักมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เช่น คลองท่าขาม จากนครศรีธรรมราชไปออกทะเล เป็นต้น

ด้านการศึกษา

สมัยกรุงธนบุรีเป็นระยะเวลาที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย การฟื้นฟูการศึกษาจึงทำได้ไม่มากนัก แต่วัดก็ยังเป็นแหล่งที่ให้การศึกษาอยู่ โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเรียนหนังสือและได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลีสันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีวิชาเลข เน้นมาตรา ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือสำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพอะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้นๆ ให้แก่ลูกหลานของตนตามสายตระกูล เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กหญิง จะถือตามประเพณีโบราณคือ เรียนเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน การฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงมีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้[71]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯให้บำรุงการศึกษาตามวัดต่างๆ และยังโปรดเกล้าฯให้ตั้งหอหนังสือขึ้นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ซึ่งคงเทียบได้กับหอพระสมุดในระยะหลัง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้แสวงหาและรวบรวมตำราต่างๆ ที่กระจัดกระจายไปเมื่อคราวกรุงแตกไว้ที่พระอารามหลวงหรือหามาจำลองไว้เป็นแบบฉบับเพื่อใช้ศึกษาเล่าเรียน

ด้านศาสนา


ถึงแม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา แต่พระองค์กลับมิได้ทรงละเลยงานด้านศาสนจักร ได้ทรงมุ่งมั่นทำนุบำรุงศาสนาพุทธให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พระราชกรณียกิจด้านฟื้นฟูพระพุทธศาสนามีดังนี้ เช่น การบทสวดมนต์พุทธชัยมงคลคาถาและสร้างพระยอดธง มีบันทึกโบราณบอกไว้ดังนี้ "เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเล็งเห็นว่า สงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ"[73]
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบสังฆมณฑลทันทีภายหลังการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ครั้งที่ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์ทางฝ่ายหัวเมืองเหนือมัวหมอง ก็ได้อาราธนาพระราชาคณะจากในกรุงไปสั่งสอน ทำให้พระสงฆ์กลับบริสุทธิ์และเป็นปกติสุขขึ้น[73] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นในการสืบเสาะค้นหาต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ยังเหลืออยู่หลังจากเสียกรุง เพื่อนำมาคัดลอกจำลองไว้สำหรับการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงต่อไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่เสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2312 ได้มีรับสั่งให้ขอยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชบรรทุกเรือเข้ามาคัดลอกในกรุงธนบุรี และในปีถัดมาในคราวที่เสด็จฯ ไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองอุตรดิตถ์ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกลงมาด้วย ต้นฉบับที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยต่อมา[73]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวัตรปฏิบัติในทางธรรมวินัยของพระสงฆ์ในปี พ.ศ. 2316 โดยถือเป็นต้นฉบับกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกของไทย[74] และทรงนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนา มาใช้เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้นด้วย[75] และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ในพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ด้วยความกตัญญูกตเวที [76][73]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร วัดราชคฤห์วรวิหาร และวัดเสาธงหิน เป็นต้น[73]
ภายหลังจากที่รบชนะเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระบางกลับมายังกรุงธนบุรีด้วย โดยให้จัดเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารคถึง 246 ลำ และเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับด้วยพระองค์เอง แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม ต่อมารัชกาลที่ 1 ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง


ด้านศิลปกรรม

  • นาฏดุริยางค์ ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 2312 ได้ทรงนำตัวละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามาเป็นครูฝึกหัดร่วมกับพวกละครที่ทรงรวบรวมได้จากที่อื่น แล้วจัดตั้งเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี โดยยึดแบบฉบับการฝึกละครของกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้คณะละครหลวงได้นำไปฝึกหัดออกแสดงด้วย[78] ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่เพื่อสร้างบรรยากาศให้รื่นเริงครึกครื้นเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดฯให้ประชาชนทั่วไปเปิดการฝึกสอนและออกโรงเล่นได้อิสระ เครื่องแต่งกายไม่ว่าจะเป็น เครื่องต้น เครื่องทรง ก็แต่งกันได้ตามลักษณะเรื่อง ส่งผลให้ศิลปะการละครของไทยซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมากตอนปลายอยุธยากลับฟื้นตัวขึ้นใหม่
  • ศิลปการช่าง ภาพเขียนที่งดงามประณีตในสมัยธนบุรีที่สำคัญยิ่ง คือ "สมุดภาพไตรภูมิ" เป็นภาพเขียนที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2319 ซึ่งนับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของเมืองไทย เมื่อคลี่ ออกจะมีความยาวถึง 34.72 เมตร เขียนด้วยสีลงในสมุดทั้ง 2 ด้าน โดยฝีมือช่างเขียน 4 คน ปัจจุบันได้เก็บ รักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ[79]
  • งานฝีมือช่าง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเล็งเห็นว่า ช่างไทยสมัยธนบุรีมีเหลืออยู่น้อยมากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ รวบรวมและฟื้นฟูการช่างสิบหมู่ขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด บ้านเมืองอยู่ในระหว่างสงคราม สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีประณีตงดงามในสมัยธนบุรีจึงหาได้ยาก แต่ที่มีให้เห็นอยู่บ้าง ได้แก่[80]
  • พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทาราม
  • พระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารเล็กหน้า
  • พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
  • ตู้ลายรดน้ำ ที่มีศักราชแจ้งชัดว่าสร้างในสมัยกรุงธนบุรี อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ
  • ท้องพระโรงพระราชวังเดิม ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ


เสด็จสวรรคต


รั้นถึงปี พ.ศ. 2325 ขณะนั้นกรุงธนบุรีมีอายุได้ 15 ปี พระยาสรรค์กับพวกได้ก่อกบฏ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นไปทำศึกกับเขมรจึงกลับมายังกรุงธนบุรี เห็นว่าความไม่สงบของบ้านเมืองเกิดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร[83] ณป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วฝังพระบรมศพที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทารามวรวิหาร) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325[3] เสด็จสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา สิริรวมครองราชย์ได้ 15 ปี กรุงธนบุรีก็สิ้นสุดลง จากนั้นจึงได้สืบสวนความผิดของผู้ก่อกบฏ แล้วตัดสินให้นำพระยาสรรค์กับพวกไปประหารชีวิตในเวลาต่อมา[84]
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแนวคิดดังกล่าวแล้ว ยังมีแนวคิดอื่น เช่น ที่เสนอว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทำรัฐประหาร และแนวคิดที่ว่าพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์และลาผนวชไปยังนครศรีธรรมราช เป็นต้น

พระบรมราชานุสรณ์

รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"[86] นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดีที่สุด และมีศาลเทพารักษ์และพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์มากที่สุดยิ่งกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด[87]
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเช่นกัน


ความสัมพันธ์เชื้อสายจีน


เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง (鄭王公) หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋วที่ได้รับการเคารพบูชา[89] (แซ่แต้ของพระองค์พ้องกับคำว่าแต้จิ๋ว 潮州)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานข้อมูลแก่หมอสมิท (นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ) ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีชื่อเรียกขานกันในหมู่ชาวจีนว่า เตียซินตัด หรือ เตียซินตาด (爹信達) แปลว่า พ่อสินเจ้าเมืองตาก และยังมีชื่อที่ปรากฏว่า เจิ้งกั๋วอิง (鄭國英) แปลว่า วีรบุรุษของประเทศนามเจิ้ง ตามหลักฐานจีน ก่อนเสด็จรับราชการเคยทรงประกอบอาชีพค้าขายต่อจากพระราชบิดา และยังมีหลักฐานที่ส่อว่าเคยทรงเป็นพ่อค้าเกวียน มีรับสั่งได้คล่องแคล่ว ทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนฮกเกี้ยน[90]
อย่างไรก็ตาม ต้วนลี่เซิงได้พบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน รวมทั้งศาลประจำตระกูลซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2464 คงเป็นผู้สืบราชสกุลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่งไปฝังแทนพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน สิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานว่า สายวงศ์พระราชบิดาอยู่ที่ตำบลนั้น ซึ่งเป็นถิ่นที่แห้งแล้ง ทำให้อพยพมาอยู่พระนครศรีอยุธยา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น